Message

Message from the President of the Electrical Engineering Academic Association (Thailand)

สารจากนายกสมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (ประเทศไทย)

สมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (ประเทศไทย) หรือ Electrical Engineering Academic Association (Thailand ) - EEAAT รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจาก สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ในการรับเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัด การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 46 หรือ EECON-46 (The 46th Electrical Engineering Conference) ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566  

พร้อมกันนี้ สมาคม EEAAT ขอต้อนรับนักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร นักเทคโนโลยี และผู้ร่วมประชุมวิชาการ EECON-46 ทุกท่าน ที่ได้นำมาร่วมนำเสนอความรู้ใหม่เชิงวิชาการ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในศาสตร์ของวิศวกรรมไฟฟ้าและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงด้าน ไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบควบคุมและเครื่องมือวัด พลังงาน การประมวลผลสัญญาณดิจิทัล โฟโตนิกส์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ และ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กับงานด้านต่าง ๆ องค์ความรู้เหล่านี้ เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมถึงต่อยอดสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน  

ขอขอบคุณทีมงานเจ้าภาพ (สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์) คณะกรรมการดำเนินการฯ ผู้ส่งบทความ ผู้พิจารณาบทความ สปอนเซอร์ผู้สนับสนุน วิทยากรบรรยายรับเชิญ และผู้ร่วมประชุมทุกท่าน ที่ทำให้งาน EECON-46 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงไม่เพียงจะได้รับความรู้ทางวิชาการ แต่ยังคงได้มีโอกาสสร้างและสานต่อเครือข่ายทางวิชาการภายในประเทศให้เข้มแข็งอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. อธิคม ฤกษบุตร

นายกสมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า(ประเทศไทย) – EEAAT

สารจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจาก สมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (ประเทศไทย) หรือ Electrical Engineering Academic Association (Thailand ) - EEAAT ให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 46 หรือ EECON-46 (The 46th Electrical Engineering Conference) ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566  

การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering Conference หรือ EECON) เป็นการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการวิจัยในศาสตร์ทางวิศวกรรมไฟฟ้า รวมไปถึงด้านไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบควบคุมและเครื่องมือวัด พลังงาน การประมวลผลสัญญาณดิจิทัล โฟโตนิกส์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กับงานด้านต่าง ๆ ของคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักวิจัย รวมถึงวิศวกร และผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านงานวิจัย และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทั้งยังช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน

ในปี พ.ศ. 2566 นี้นับเป็นการจัดงานการประชุม EECON ขึ้นเป็นครั้งที่ 46 โดยสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า            คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากเป็นวาระ ครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ผมขอแสดงความยินดีกับผู้นำเสนอบทความในการประชุม EECON-46 นี้ทุกท่าน และขอให้การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยในวงกว้าง ได้รับฟังมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ ของนักวิชาการและสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ทุกประการ

ดร.ฉัททวุฒิ พีชผล

อธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

สารจากคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 46

ผมขอแสดงความยินดีที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งยินดีต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 46 (Electrical Engineering Conference : EECON-46) ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 ณ ดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ที่จัดเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา นับเป็นการประชุมที่มีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยทางวิศวกรรมไฟฟ้าและสาขาที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักวิจัย ตลอดจนวิศวกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านงานวิจัยและประสบการณ์ระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ ผลงานใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ขอขอบพระคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้งานประชุมทางวิชาการฯ ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านในการที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศชาติได้ต่อไป

ดร.ภานุวัฒน์ แตระกุล

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์